ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ชำแหละ...ปลูกไผ่ในสวนยาง ประโยชน์ หรือ โทษ...?

ปัจจุบันเกษตรกรทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวกันมาก จึงทำให้ขาดภูมิคุ้มกัน ไม่มีความหลากหลายทางรายได้ ในเวลาที่เจอสภาวะสินค้าเกษตรผันผวน

“สวนยาง” เป็นตัวอย่างผลกระทบจากปัญหาราคาตกต่ำชัดเจนมาก เพราะโดยส่วนมากชาวสวนยางปลูกยางอย่างเดียว มีน้อยรายที่จะทำสวนยางแบบผสมผสาน

แต่ที่ สวนไผ่อาบู...ผมมุ่งเน้น ปลูกพืชหลากหลาย เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้

การปลูกไผ่แซมในสวนยาง เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมทำเพื่อเสริมรายได้ และ ทำแล้วได้ผลดีด้วย

👉 ทำไมจึงต้องปลูกไผ่แซมในสวนยาง?

👌 ไผ่เป็นพืชเสริมรายได้ให้ผลผลิตเร็ว หากได้รับการดูแลเอาใจใส่ดี ประมาณ 8 เดือนไผ่ก็เริ่มแทงหน่อ

👌 ไผ่ และ ต้นยางพารา เป็นพืชที่มีระบบราก...ลึก...ตื้น...ต่างกัน ดูดกินธาตุอาหารในระดับความลึกต่างกัน จึงสามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่เกิดการแย่งอาหาร

👌 ไผ่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน จึงมีช่องทางต่อยอดเป็นอาชีพได้หลากหลาย

👌 ไผ่  ทนแล้งได้ดี  ไม่ตายง่ายๆ แม้จะดูแลแบบตามมีตามเกิด




ข้อดีของการปลูกไผ่ในสวนยาง

👍 ช่วยเพิ่มช่องทางในการเสริมรายได้แก่เจ้าของสวน เช่น ขายหน่อไม้  ขายลำไผ่สำหรับใช้สอย  เผาถ่านไม้ไผ่  ทำกระบอกข้าวหลาม และทำต้นพันธุ์จำหน่าย เป็นต้น

👍 ไผ่ ดูดซับน้ำได้ดี ดินบริเวณโคนกอไผ่จึงเป็นเสมือน “ถังเก็บน้ำ”  กระจายอยู่ทั่วทั้งสวน

👍 ดินขุยไผ่ (ดินโคนกอไผ่) ได้ชื่อว่าเป็นดินอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร  เป็นประโยชน์ต่อการเติบโต และ การให้ผลผลิตของต้นยาง

👍 กอไผ่เป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อราชนิดดี เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา  ช่วยลดการเกิดปัญหาต้นยางรากเน่าโคนเน่า 




👍 การปลูกไผ่จะช่วยให้สวนร่มรื่น และ ใบไผ่จะช่วยพลางแสงทำให้หญ้าไม่โต ช่วยประหยัดค่าตัดหญ้า

👍 ไผ่ปลูกได้กับทุกสภาพดิน และยังช่วยปรับปรุงดินได้ดีมาก ที่สำคัญ คือ ไผ่เป็นพืชโตเร็ว

👍 รากของไผ่มีลักษณะเป็นตะแกรง คลุมบริเวณผิวดิน ช่วยป้องกันน้ำชะล้างหน้าดินได้ดี

👍 ด้วยข้อดีที่กล่าวมา ทำให้แปลงยางที่ปลูกไผ่แซม ให้ผลผลิตสูงกว่าแปลงยางทั่วไป 30 เปอร์เซ็นต์

👍 สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราสามารถพัฒนาสวนไผ่ในสวนยาง ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ และ เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านการเกษตรได้




👉 ข้อเสียของการปลูกไผ่แซมในสวนยาง

👎ไผ่เป็นพืชคายน้ำในเวลากลางคืน หากเราปลูกไผ่แบบปล่อยปะละเลย...ไม่สางแต่งกอ จะทำให้สวนยางครึ้มชื้น เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกับต้นยางได้ง่าย

👎กิ่งไผ่ที่เกิดจากการสางแต่งกอ หากขาดการดูแล สวนจะดูเกะกะไปหมด เพราะหันไปทางไหนก็มีแต่ก่องกิ่งไผ่

👎หากปล่อยให้กอไผ่มีขนาดใหญ่ กอไผ่จะเป็นที่อยู่อาศัยของงู...แต่ส่วนมากไม่มีโอกาสที่ไผ่จะกอใหญ่ เพราะเจ้าของสวนตัดหน่อขายหมด

👎 หากปลูกไผ่แล้วไม่มีการตัดยอด ปล่อยให้ไผ่พุ่งสูงเลยต้นยาง ไผ่จะบังแสง อาจทำให้น้ำยางลดลง...ผู้ปลูกจึงต้องหมั่นคุมความสูงลำไผ่...ให้อยู่ต่ำกว่าต้นยาง จนต้นยางโตเต็มที่ประมาณปีที่ 10 จึงสามารถปล่อยให้ไผ่พุ่งสูง

👎 หากปลูกแล้วปล่อยปะละเลย ไม่ดูแล ปล่อยให้ไผ่โตจนต้นยางไม่โตตามเกณฑ์ อาจจะถูกตัดงบสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสวนยาง (เงินสงเคราะห์ปลูกแทน) ก็เป็นได้




👉 ข้อมูลควรรู้ในการปลูกไผ่แซมในสวนยาง

👌 จำนวนต้นพันธุ์ไผ่ที่จะใช้ หากปลูกระยะห่าง 6 เมตร ก็ให้เอาจำนวนต้นยาง หารด้วยสอง จะได้เป็นจำนวนต้นพันธุ์ที่ต้องใช้โดยประมาณ

ทั้งนี้ ถ้าคนมีพื้นที่น้อย ผมแนะนำให้ปลูกระยะห่าง 6 เมตร เพื่อให้ไผ่คลุมเต็มพื้นที่ ถ้ามีที่เยอะเกิน 10 ไร่ แนะนำให้ปลูกห่างๆ สัก 9 เมตร จะได้ประหยัดต้นพันธุ์ แต่หากผู้ปลูกมีโครงการปลูกพืชอื่นแซมเพิ่มอีก เช่น ไม้เศรษฐกิจ ตะเคียน ยางนา มะฮอกกานี เทพทาโร  ให้เลือกปลูกไผ่ระยะห่าง 9 เมตร เพื่อจะได้มีพื้นที่นำไม้เศรษฐกิจ และ พืชอื่น มาใส่แซมได้อีก

👌 การเตรียมต้นพันธุ์...พันธุ์ไผ่ที่เหมาะกับการปลูกแซมในสวนยาง คือ ไผ่ในตระกูลตงทั้งหมด เช่น ไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่ตงศรีปราจีน ไผ่กิมซุง ไผ่หม่าจู ไผ่ซางหม่น และไผ่ฟ้าหม่น เป็นต้น หากเจ้าของไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลมาก ผมแนะนำให้ปลูกไผ่ตงลืมแล้ง เพราะมีความทนทานสูง

👌 ราคาต้นพันธุ์ไผ่ (ตงลืมแล้ง) โดยทั่วไปจำหน่ายกันราคา ต้นละ 50 บาท หากปลูกระยะห่าง 6 เมตร คิดที่ 40 ต้นต่อไร่ เท่ากับ 2,000 บาทต่อไร่




👌 ควรเตรียมมูลไก่ไว้รองก้นหลุม โดนคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อไร่ประมาณ 200-300 บาทต่อไร่ หากไม่มี หรือ หาซื้อยาก ให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์เคมี หรือ ปุ๋ยอินทรีย์แทนได้

👌 ค่าจ้างปลูก หากเราไม่ปลูกเอง ก็สามารถจ้างปลูกที่ราคา ต้นละ 8-10 บาท ตามเหมาะสม ขนาดหลุม 1x1x1 ฟุต

👌 ค่าจัดการหากจะวางระบบน้ำ ประมาณการคร่าวๆ อยู่ที่ 2,000-3,000 บาท ต่อ ไร่ ไม่รวมต้นทุนในการขุดแหล่งน้ำ และ ไม่รวมปั๊มน้ำ ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำระบบน้ำ

👌 การจัดการปุ๋ย หากปลูกไผ่แบบดูแลอย่างดีมีระบบน้ำ เพื่อต้องการให้ไผ่ออกหน่อเต็มที่ ควรเติมขี้ไก่ ทุกๆ 1 เดือน และ ให้ปุ๋ยเพิ่ม ทุก 3-4 เดือน ค่าใช้จ่ายทั้งขี้ไก่และ ปุ๋ยประมาณ 1,500 บาทต่อไร่ต่อปี

👌 การดูแลจัดการสวนไผ่ในสวนยาง สวนไผ่ในสวนยาง 5 ไร่ ไผ่ 250 - 300 กอ กำลังพอเหมาะกับการทำงานของชาวสวนยาง 1 คน (ดูแลแบบสบายๆ งานไม่หนัก .ผมเอาจากที่ผมทำเป็นเกณฑ์)

👉 เรื่องการตลาด และ การให้ผลผลิต

🌿 หากปลูกเพียงเพื่อเป็นรายได้เสริม ให้เน้นตลาดในชุมชนเป็นหลัก

🌿 แต่ถ้าปลูกแบบจริงๆ จังๆ มีระบบน้ำ ปลูกเพื่อการค้า ให้ติดต่อกับพ่อค้าผักตามตลาดนัด ตลาดสด

🌿 ราคาขายหน่อไม้ ถ้าเป็นช่วงฤดูที่หน่อไม้ป่าออกสู่ตลาด ขายราคา กิโลกรัมละ 10 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงนอกฤดู ขายกันอยู่ราคา 30-50 บาทต่อกิโลกรัม




👉 ระยะเวลา...การคืนทุน

เรื่องตอบยากมาก เพราะขึ้นอยู่กับตัวเจ้าของสวนเป็นหลัก หากปลูกเพื่อหวังเพียงเสริมรายได้ ลงทุนไม่สูง มีแค่ค่าต้นพันธุ์ กับ ค่าปุ๋ย ค่าขี้ไก่ ก็คืนทุนเร็ว หากปลูกแบบ เพื่อการค้า ระยะเวลาการคืนทุนก็นานกว่า

แต่ความสำคัญของการคืนทุนขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ และ ความตั้งใจในการจัดการมากกว่า หากมีการวางแผน มีระบบการจัดการ และ การทำตลาดที่ดี 3-6 เดือนหลังการให้ผลผลิตก็สามารถคืนทุน

อย่างเช่น...ของผม ปลูกไผ่แซมในสวนยาง 5 ไร่ ผมคืนทุนตั้งแต่ 3 เดือนแรก...ของการเก็บเกี่ยวผลผลิต...นั่นเพราะผมทำเองทั้งหมด ต้นทุนต่ำ และ ผมมีการตลาดที่ดี ทั้งการจำหน่ายหน่อไม้ และ การจำหน่ายต้นพันธุ์

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์ กับ ผู้ที่สนใจจะปลูกไผ่เป็นพืชแซม เพื่อเสริมรายได้ในสวนยาง

เรื่องโดย : สวนไผ่อาบู www.facebook.com/RBooBambooFarm



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โค่นยาง ปลูกปาล์ม “พันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่า” 100 ไร่ อายุแค่ 40 เดือน คาดผลผลิตเฉียด 3 ตัน/ไร่/ปี

สืบเนื่องจากโพสต์ใน   Facebook   กลุ่มปาล์มน้ำมัน   ของ   กิตติชัย   ก่ออ้อ   เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์   2560   ที่นำภาพสวนปาล์มแห่งหนึ่งใน อ . อ่าวลึก   จ . กระบี่   มาโพสต์ให้คนในกลุ่มชม โดยภาพนั้นเป็นต้นปาล์มวัยแค่   40   เดือน   แต่กลับให้ทะลายเต็มจนทะลักคอทุกต้น   ส่วนใหญ่ทะลาย 3 ชั้น ทีมงานยางปาล์มออนไลน์เห็นแล้วตาลุกโชนเพราะทึ่งปนตะลึง เช่นเดียวกับสมาชิกที่ติดตามกลุ่มปาล์มน้ำมันกว่า 25,600 คน ก่อนที่เราจะตกลงกันว่าต้องเดินทางลงกระบี่เพื่อไปดูให้เห็นกับลูกตา     หากแต่จุดประสงค์หลักเราต้องการเจาะลึกเทคนิคบริหารจัดการสวนปาล์มจากเจ้าของสวน   โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจาก   บริษัท   โกลด์เด้นออยล์ปาล์ม จำกัด   ซึ่งเป็นพันธุ์ปาล์มที่สวนแห่งนี้ใช้ปลูกจำนวน   100   ไร่   และโชคดีที่   ดร . เอนก   ลิ่มศรีวิไล   เจ้าของและผู้พัฒนาสายพันธุ์ ปาล์มโกลด์เด้นเทเนอร่า   เดินทางไปชมพร้อมกับทีมงานด้วย เมื่อเดินทางถึงสวนปาล์มแห่งนี้   ดร...

ลงทุน ธุรกิจยางเครป อย่างไร ให้มีกำไร

พูดถึงธุรกิจการแปรรูปน้ำยางพาราตอนนี้ “ยางก้อนถ้วย” ดูจะเป็นคำตอบต้นๆ สำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะพี่น้องสวนยางภาคเหนือและอีสานนิยมทำยางก้อนถ้วย เนื่องจากทำง่าย ใช้เวลาน้อย ต่างจากการทำยางแผ่นซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งวัน แถมในกระบวนการผลิตยังต้องใช้น้ำปริมาณมาก ตรงข้ามกับการทำยางก้อนถ้วยที่ไม่ต้องใช้น้ำในกระบวนการเลยและเกษตรกรทำเองได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงงานมาก เมื่อก่อนการจำหน่ายยางก้อนถ้วยอาจเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น แต่กลับพบว่ามีจุดอ่อนบางประการทำให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ ถูกกดราคาซื้อเนื่องจากปริมาณน้ำในก้อนยาง   คุณประธาน สังหาญ  (ซ้าย) ธุรกิจยางเครป จึงเกิดขึ้นเพื่อลบจุดอ่อนนี้ ทีมงานยาง & ปาล์มออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ คุณประธาน สังหาญ  หนึ่งในผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ ปัจจุบันได้ให้คำปรึกษากับพ่อค้ารับซื้อยางก้อนถ้วยเพื่อผลิตยางเครปส่งโรงงานและกลุ่มเกษตรกรหลายแห่งในเขตภาคเหนือ-อีสานเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจยางเครป โดยมีประเด็นสำคัญคือ ทำยางเครปอย่างไรให้ได้กำไร ศาสตร์ของการทำยางเครป “ไม่ขาดทุน” ที่ คุณประธาน สรุปคร่าวๆ มี 6 ข้อ หรือที่...

ทึ่ง..สวนปาล์มผลผลิต 7.3 ตัน/ไร่/ปี ต้นทุนต่ำน่าเหลือเชื่อ ผลงาน โสฬส เดชมณี

บอกใคร ใครเขาจะเชื่อ... !!! สวนปาล์มขนาด 44 ไร่ อายุ 8 ปี ทำผลผลิตได้ 7.3 ตัน/ไร่/ปี และตั้งเป้าจะปั๊มผลผลิตทะลุ 8 ตัน ในปีที่ 9 และ 10 ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ยทั้งประเทศ 3 ตัน/ไร่/ปี “ยังไม่ถึงที” (ขอยืนสำนวนคนใต้มาใช้) “โกหกแล้ว บ้าไปแล้ว” “7.3 ตัน สูงไปมั้ยครับ” นี่คือส่วนหนึ่งของคอมเมนต์ในเพจยาง & ปาล์มออนไลน์ หลังจากทีมงานนำข้อมูลผลผลิตของสวนปาล์มแห่งนี้ไปโพสต์ สะท้อนข้อมูลที่ย้อนแย้งต่อความรู้สึกของชาวสวนปาล์มจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า ตัวเลขนี้ไม่ใช่เรื่องจริง ยิ่งเมื่อแบข้อมูล “ต้นทุน” การจัดการสวนปาล์มทั้งระบบ บางปีมีต้นทุนต่ำเพียงแค่ 1.30 บาท/ปาล์ม 1 กก. ก็ยิ่งไม่น่าเชื่อ ถ้าเป็นภาษาใต้ก็ต้องบอกว่า “โกหกทั้งเพ” นายโสฬส เดชมณี เจ้าของสวนปาล์ม 44 ไร่ ทำผลผลิตได้ 7.3 ตัน/ไร่/ปี  หากแต่พวกเราทีมงานยาง & ปาล์มออนไลน์ ยืนยันว่า ข้อมูลนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับสวนปาล์มของ นายโสฬส เดชมณี เกษตรกรชาวสวนปาล์มหัวก้าวหน้าแบบ  “ ติดจรวด ”  ของ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี สวนปาล์มที่ได้รับคำชื่นชมว่ามีระบบการจัดการสวนที่ดี พอๆ กับเป...