เป็นเรื่องยาก พอๆ กับคำว่าเป็นไปไม่ได้ หากเกษตรกรชาวสวนยางจะพัฒนาจาก
“ชาวสวน” สู่ “นักอุตสาหกรรมยาง” และ “นักการตลาด”
แต่วันนี้ชาวสวนยาง จ.อุบลราชธานี
สร้างตำนานบทใหม่ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาซึ่งเป็นชาวสวนยาง
กำลังจะก้าวจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมแบบเต็มตัว โดยการสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 เพื่อส่งออกต่างประเทศ
พวกเขาร่วมกันลงขันเงินจาก 13 สหกรณ์
ลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางก้อนถ้วยเป็นยางแท่ง
ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมล้อยางรถยนต์ พร้อมๆ กับเสาะหาตลาดส่งออก
จนมีตลาดรองรับทั้งระยะสั้นและระยะยาวกว่า 1,000 ตัน/เดือน
หากแต่ฝันของชาวสวนยางเมืองดอกบัว
กำลังจะพังทลายลงอย่างราบคาบ ภายหลังจากธุรกิจสะดุดหัวคะมำเพราะขาดเงินทุนหมุนเวียนซื้อวัตถุดิบป้อนโรงงานได้อย่างต่อเนื่อง
หลังจากพยายามเดินเรื่องกู้เงินตามโครงการของรัฐผ่านแบงค์ ธ.ก.ส.มากว่า 2 ปี แล้วไม่ได้รับอนุมัติ
“พวกเราประสบปัญหาเดียวกัน คือ
ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง เวลานำยางไปขายโรงงานตีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง
มันเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานและเป็นเหมือนกันทั้งประเทศ
พวกเราจึงรวมตัวกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมเงินทุนจากเงินฝากของสมาชิก 13
สหกรณ์ ใน จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์ รวม 30
ล้านบาทมาลงทุนสร้างโรงงานยางแท่ง เราเดินทางจนสำเร็จแล้ว 100 % พร้อมผลิต
มีตลาดรองรับล่วงหน้า
แต่กลับเดินต่อไปไม่ได้เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน”
“ถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยสนับสนุน ธุรกิจเราก็ขับเคลื่อนไม่ได้
เราก็จำเป็นต้องขายทรัพย์สินของสหกรณ์ที่สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงให้กับเอกชนไป
ซึ่งเป็นทางสุดท้ายที่พวกเราจำเป็นต้องทำ เพื่อใช้หนี้สหกรณ์”
นายไพศาล
ยอดจันดา หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางอุบลราชธานีสะท้อนปัญหาที่พวกเขากำลังประสบ ซึ่งมีบทสรุปคือ ฆาตกรรมธุรกิจโรงงานยางแท่ง
แล้วยอมคุกเข่าให้กับปัญหาราคายาง
ก่อนจะลงลึกไปถึงเนื้อหนังของปัญหาดังกล่าวคงต้องย้อนกลับไปเมื่อ
3-4 ปีที่แล้ว ขบวนการชาวสวนยาง จ.อุบลราชธานี
มีความพยายามจะสร้างโรงงานยางแท่งขึ้นมา เพื่อเอาชนะเหนือปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการซื้อขายยางก้อนถ้วย
และปัญหาราคายางตกต่ำ โดยจัดทำโครงการของบประมาณสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
งบประมาณกว่า 60 ล้านบาท
ในระหว่างนั้นมีการดำเนินงานด้านการตลาดไปพร้อมๆ
กัน จนได้ออเดอร์จำนวนหนึ่งจากประเทศจีน ก่อนจะรวบรวมยางก้อนถ้วยจากสมาชิก
แล้วนำไปจ้างโรงงาน 4 ของ องค์การสวนยาง
(อสย.) จ.ศรีสะเกษ ในสมัยนั้น ผลิตยางแท่ง
STR 20 เพื่อส่งออก
และมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
แต่โครงการไม่มีความคืบหน้า
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเปลี่ยนหน้าไปหลายคน จนดูเหมือนโรงงานยางแท่งของเกษตรกรจะถูกแช่แข็ง
จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
ขบวนการชาวสวนยางเมืองดอกบัวตัดสินใจสานฝันของตัวเอง ตัดสินใจนำเงินฝากของสมาชิกจาก
13 สหกรณ์ ใน 3 จังหวัด ในนามเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางอุบลราชธานี สร้างโรงงานยางแท่ง STR
20 โดยชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางอุบลราชธานีเป็นผู้ลงทุนเครื่องจักร
ขณะที่สหกรณ์กองทุนสวนยางภูจองนาจะหลวย จำกัด ลงทุนที่ดินและอาคาร
“ในช่วงแรกเราช่วยกันประคับประคองสร้างโรงงาน
ช่วยกันหาตลาด และอาศัยเงินทุนหมุนเวียนจำนวนหนึ่งเพื่อให้ผลิตยางป้อนออเดอร์
แต่ก็ผลิตได้แค่สัปดาห์ละ 60 ตัน
โดยหวังว่าโครงการที่เราทำเรื่องกู้เงินในโครงการฯ 5,000 จาก ธ.ก.ส. จะได้รับอนุมัติ” นายไพศาลเล่า
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวคือ
โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท ของรัฐบาลนายประยุทธ์ จันทร์โอชา
เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรแปรรูปยางพารา ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
โดยขอกู้เงินสร้างโรงงาน 15 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียน 20 ล้านบาท
“ผลที่ออกมา ธ.ก.ส. ไม่อนุมัติ
เขาให้เหตุผลว่าเราเป็นสหกรณ์ใหม่ น่าจะไม่มีความสามารถในการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
และการตลาด เพราะมันเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยง ทั้งๆ ที่เรามีหลักทรัพย์ค้ำประกันทุกอย่าง
ไม่ได้แบมือขอเงินฟรีๆ
คณะกรรมการทุกคนก็พร้อมที่จะรับผิดชอบและสู้เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง” เขาเล่าอย่างผิดหวัง
นายไพศาลบอกว่า ในการซื้อขายยางก้อนถ้วย ประเภทยางที่เกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสานผลิตมากที่สุดกว่า 90% มักจะถูกกดเปอร์เซ็นต์ยาง
และราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกมานาน
“หลุมหลบภัย” ที่ดีที่สุดก็คือ การแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า
ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลนี้ใช้ขับเคลื่อนปัญหาราคายางระยะยาว
“หลังจากเราเปิดโรงงานเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว
สร้างความเปลี่ยนแปลงกับราคายางในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด ราคายางก้อนถ้วยในโซนอุบลฯ
ค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เพราะในแต่ละจุดประมูลเราจะไปเสนอราคาขั้นต่ำไว้
อย่างวันนี้กำหนดไว้ 34 บาท หากพ่อค้าต้องการยางเขาก็ต้องให้สูงกว่านี้
อย่างวันนี้ราคาที่พ่อค้าประมูลอยู่ที่ 35-36 บาท ถ้าเขาให้ต่ำกว่าหรือเท่ากับที่เราเสนอ
เราก็นำเข้าผลิตในโรงงาน ทำให้พ่อค้าไม่สามารถกดราคาได้
คนที่ได้ประโยชน์ก็คือเกษตรกร”
“ถ้าโรงงานเรามีเงินทุนหมุนเวียน
เราได้วางแผนไว้แล้วว่าจะไปประมูลยาง ในจุดต่างๆ แล้วตั้งราคาไว้ให้สูง เช่นตั้งราคา
35 บาท สำหรับยาง 6 มีดไม่กรีดทับหน้า ถ้าพ่อค้าสู้ราคาก็ต้องให้ราคาสูงกว่า
เราก็ขายให้พ่อค้าไป เป็นผลประโยชน์กับเกษตรกรทั้งจังหวัดอุบล แต่เกษตรกรก็ต้องพัฒนาคุณภาพยางให้เข้ากับราคา”
นายไพศาลบอกว่า การตั้งราคาในการประมูลยาง
จะยึดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เกษตรกรไม่ถูกเอาเปรียบ ขณะเดียวกันพ่อค้าซื้อแล้วไม่ขาดทุน
เพียงแต่กำไรจะลดลง หลังจากฟันกำไรสูงมาตลอด
“เราทำโรงงาน เรามองเห็นต้นทุนและกำไรอยู่”
ส่วนการตลาด หนึ่งในหัวใจของธุรกิจ
นายไพศาลบอกว่า ไม่ใช่ปัญหาต่อธุรกิจของพวกเขา เพราะมีการทำตลาดมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งการเดินทางไปศึกษาและนำสินค้าไปนำเสนอในประเทศจีน จนมีบริษัทสนใจพร้อมเซ็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหลายแห่ง
รวมทั้งการจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางธารน้ำทิพย์ อ.เบตง
จ.ยะลา ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งด้านการผลิตและส่งออกยางให้กับโรงงานผลิตภัณฑ์ล้อยางในและต่างประเทศ
“การส่งออกเราเรียนรู้ได้ ที่ผ่านมาพวกเราก็ส่งออกไปแล้วหลายล็อต
โดยไม่ต้องไปแข่งขันกับบริษัท 5 เสือ หรือบริษัทขนาดใหญ่ แต่ยังมีตลาดเล็กๆ ที่ต้องการยางจากกลุ่มเกษตรกรเดือนละ
500 ตัน 1,000 ต้น และบริษัทจีนพวกนี้เขาต้องการซื้อตรงกับกลุ่มเกษตรกร
ที่ผ่านมาเข้ามาติดต่อเรา 4-5 เจ้าแล้ว แต่เรายังไม่เซ็นสัญญา”
“เรายังมีสัญญาซื้อขายยางจริงกับกลุ่มเกษตรกรทำสวนยางธารน้ำทิพย์เดือนละ
1,000 ตัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งขายยางให้กับโรงงานผลิตล้อยางในประเทศไทยและส่งออกจีน เขามีออเดอร์เดือนละ
2,000-3,000 ตัน แต่ผลิตป้อนได้เพียงพอ แต่เราไม่มีเงินทุน จึงส่งยางป้อนได้แค่สัปดาห์ละ
60 ตันเท่านั้น เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียนจัดซื้อวัตถุดิบ จึงผลิตได้ไม่ต่อเนื่อง
และเป็นการเสียโอกาสอย่างใหญ่หลวง”
ธุรกิจยางแท่งของขบวนการชาวสวนยางอุบลฯ จึงเป็นเรื่องน่าขำทั้งน้ำตา เพราะมีความพร้อมทั้งโรงงานเครื่องจักร กระบวนการผลิต และมีตลาดส่งออกต่างประเทศรองรับระยะยาว จนเกือบจะได้ชื่อว่าเป็น “เฟอร์เฟคบิสซิเนส” และน่าจะเป็น “แม่แบบ” ให้กับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ ในภาคอีสาน ที่กำลังประสบปัญหาชะตากรรมเดียวกัน
แต่กลับต้องล้มพับ เพราะขาดการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนจากภาครัฐ
เพื่อพยุงให้ธุรกิจสามารถดำเนินและต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยางพาราระดับเกษตรกรแบบเต็มตัว
ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายาง
“ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ของ ธ.ก.ส.
ทำให้เราเข้าไม่ถึง ถ้าหน่วยงานรัฐมีความจริงใจในการสนับสนุนเกษตรกร ผู้ใหญ่ควรลงมีดูความตั้งใจและการทำงานของเรา
มาสอบถามคนในพื้นที่ว่ามันส่งผลบวกอย่างไร ”
“ฝากถึงรัฐมนตรีฯ เกษตร อยากให้ท่านรู้ว่ามีกลุ่มเกษตรกร
ที่พยายามขับเคลื่อนการแปรรูปยางเพื่อแก้ปัญหาราคายางอยู่ แต่ประสบปัญหาสำคัญอยู่ ถ้าสหกรณ์ไหนคิดจะลงทุนเหมือนเรา
คงต้องคิดกันหลายๆ รอบ ว่าลงทุนแล้วรัฐจะสนับสนุนไหม
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลืออย่างจริงใจไหม ถ้าตอบคำถามไม่ได้อย่าคิดทำ มันเจ็บปวดครับ” นายไพศาลสรุป
ทีมงานยาง & ปาล์มออนไลน์ จึงอยากจะฝากปัญหาของขบวนการชาวสวนยางอุบลราชธานี ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายไพศาลระบุว่า ผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขอเพียงแค่ท่านได้มีโอกาสเข้าไปดูไปเห็นการทำงาน
เห็นความตั้งใจของพวกเขา และถ้าช่วยปลดทุกข์ของพวกเขาได้ย่อมจะเป็นกุศลบุญใหญ่หลวง
ซึ่งจะถูกบันทึกอยู่ในใจของชาวสวนยาง ไม่เฉพาะ จ.อุบลราชธานีเท่านั้น
แต่จะเป็นโมเดลเป็นแบบอย่างให้กับชาวสวนยางทั่วประเทศ ที่ประสบปัญหาเดียวกับพวกเรา
ฝากช่วยกันแชร์ข่าวนี้
เพื่อนำปัญหาไปถึงหูถึงตาผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยเทอญ
ทีมงานยาง&ปาล์มออนไลน์
ความคิดเห็น