องค์ประกอบที่เป็น “เสาหลัก” ของการปลูก “ปาล์มน้ำมัน” คือ ดิน น้ำ แสงแดด และปุ๋ย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ย่อมหมายถึง “ความพิกลพิการ” ที่สะท้อนออกมาในรูปของผลผลิต เช่น ผลผลิตต่ำ เป็นต้น“ชาวสวนปาล์มต้องสร้าง “อำนาจ” หรือ “เครื่องต่อรอง” ขึ้นมาก่อน เพราะตราบใดที่ยังตัดปาล์มดิบ ก็ไม่ต่างอะไรกับ “นักรบมือเปล่า” ทางออกทางเดียวคือ หยุดตัดปาล์มดิบ หันมาตัดปาล์มสุก อย่างพร้อมเพรียง เพื่อว่าอย่างน้อยก็เป็น “อาวุธ” ต่อรองโรงงานได้ ในท้ายที่สุด
”
แต่ถ้ามีเสาหลักครบทุกต้น
ผลผลิตย่อมสูง ต้นทุนต่ำ และคุ้มค่า ด้วยเช่นกัน
เหมือนกับสวนปาล์มของนายวโรภาส
คำดา ใน ต.บางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี บนพื้นที่ 20 ไร่
ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มปากแม่น้ำตาปี มี “น้ำ” เป็นเสาหลัก ซึ่งเป็น “จุดเริ่มต้น”
ที่ดีของปาล์มน้ำมัน เพราะน้ำเป็นตัวเคลื่อนย้ายธาตุอาหารจากดินสู่ต้นปาล์ม ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ
สามารถบริหารจัดการให้ครบองค์ประกอบได้ โดยเฉพาะปุ๋ย ถ้าให้อย่างเหมาะสม
ผลผลิตจะสูง และสวนแห่งนี้เคยปั้นผลผลิตได้ถึง 7.2 ตัน/ไร่/ปี
แต่นั่นเป็นเพียงผลผลิตเมื่อ 3
ปีที่แล้ว เพราะหลังจากนั้นเกิดภาวะแล้งรุนแรงในปี 2557 ซึ่งมีผลต่อการสร้างดอกตัวเมีย
จึงฉุดให้ผลผลิตในปี 2558-2559 ลดลงอย่างชัดเจน คือ 6 ตัน และ 4.5 ตัน/ไร่/ปี
ตามลำดับ เขาบอกว่า สวนปาล์มในสุราษฎร์ฯ ที่มีอายุเกิน 10 ปี ขึ้นไป
เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด
ทำไมพื้นที่นี้และใกล้เคียงจึงทำผลผลิตได้สูง...
นายวโรภาสบอกว่าพื้นที่ลุ่มแถบนี้มีน้ำตลอดทั้งปี
และมีมากจนต้องสร้างคันล้อมรอบสวน และสร้างร่องน้ำในสวนปาล์ม
เพื่อกันน้ำท่วมในหน้าน้ำ ร่องหนึ่งปลูกปาล์ม (พันธุ์เฟลด้า มาเลเซีย) 2 แถว ระยะห่าง 9X9 เมตร ปัจจุบันอายุเข้าสู่ปีที่
11
ช่วงที่ทีมงาน ยางปาล์มออนไลน์
เข้าไปเยี่ยมชมสวน เห็นชัดเลยว่าแต่ละต้นไว้ทางปาล์มเยอะมาก
เยอะจนสงสัยว่าทำไมไม่ตัดแต่งทางปาล์มออกบ้าง เขาบอกเลยว่า
ที่เห็นทางใบเหลือคาต้นเยอะๆ อย่างนี้แสดงว่าต้นไม่ออกทะลายมานานแล้ว
เนื่องจากผลผลิตปีที่ผ่านมา (2559) ลดลง
วางทางใบปาล์มกระจายทั่วสวน ช่วยรักษาความชื้นในช่วงหน้าแล้ง และยังสร้างประโยชน์ได้อีกหลายทาง
“ปกติการตัดแต่งทางปาล์ม หรือภาษาเกษตรกรเรียกว่า “ล้างคอ” จุดประสงค์เพื่อให้สวนโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีพื้นที่ให้ทางใบด้านบนเจริญเติบโต แต่เราไม่ได้ล้าง เพราะใบยังสังเคราะห์แสงได้บ้าง เพราะใบยังไม่โทรม แต่ถ้าใบไหนเริ่มโทรม ไม่มีประโยชน์ เอาไว้ก็เปลืองปุ๋ย แต่การล้างคอ บางครั้งเป็นการเพิ่มต้นทุน เพราะต้องจ้างแรงงาน”
ทางปาล์มที่ตัดแต่งทิ้งจากต้นยังกลายเป็นธาตุอาหารที่ดีให้กับสวนปาล์ม
โดยเฉพาะทางใบสดจะมีไนโตรเจนสูงมาก เมื่อย่อยสลายยังเพิ่มอินทรียวัตถุให้สวนปาล์มด้วย
_______________Advertising_________________
ลงโฆษณา โทร 08-6335-2703
“เวลาแต่งทางเราจะวางกระจาย ตามพื้นสวน
วางแบบนี้ทางปาล์มจะผุเร็วกว่าวางกองสูงกลางแถวปาล์ม
ถ้าลองแหวกดูตามพื้นที่ปูทางใบไว้จะเห็นรากฝอยขาวๆ อยู่เต็มไปหมด
เพราะรากมันขึ้นมากินปุ๋ย
ในทางใบสดมันก็มีปุ๋ยไนโตรเจนเหลืออยู่เยอะมาก
แต่ตามโคนต้นและทางเดินตรงกลางจะไม่ปูเพราะตอนไม่ผุจะเก็บเมล็ดร่วงยากใบมันจะทิ่มมือ”
ต้นปาล์มอายุ 11 ปี
กำลังเป็นช่วงที่ให้ผลผลิตเต็มที่ จึงต้องให้ธาตุอาหารเต็มที่หน่อย โดยเฉพาะปุ๋ย
ปกติจะให้ปีละ 3 ครั้ง ครั้งหนึ่งให้ต้นละ 3.5 กก. ได้แก่สูตร 16-16-16 และ 0-0-60
โดยเฉพาะปุ๋ยสูตร 16-16-16 จะเลือกยี่ห้อที่มีตัวหน้าเป็นปุ๋ยไนเตรต 40% และใส่ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ
เพื่อบำรุงดินอีกทาง
“แต่ปีนี้ (2559) ผลผลิตไม่ค่อยดีจึงเพิ่มปุ๋ยเป็น
4 กก./ต้น เพื่อเรียกผลผลิตกลับคืนมา” เขาหวังอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า
ต้นปาล์มที่มีละลายดกๆ 3 ชั้น (ชั้นละ 8 ทะลาย) ทะลายชั้นลางและกลางจะใหญ่
แต่ชั้นบนจะค่อยๆ เล็ก เพราะต้นปาล์มจะใช้อาหารไปเลี้ยงทะลายเยอะ
หากใส่ปุ๋ยไม่เพียงพอทะลายจะเล็ก และหลังจากนั้นต้นจะพักคอยาวอย่างน้อยครึ่งปี
“ผลผลิตปีนี้ลด แต่ดีที่ได้ราคาปาล์มมาช่วย
ถ้าราคาไม่ช่วยตายแน่”
แต่วิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักและราคาปาล์มให้สูงขึ้นได้
นายวโรภาสบอกว่าง่ายๆ เพียงแค่เลือกตัดปาล์มสุก 90% ขึ้นไป ซึ่งเขาเริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก
เนื่องจากเมื่อสิบกว่าปีก่อนชาวสวนปาล์มไม่ค่อยรู้ เลยไม่ให้ความสำคัญ
ตัดปาล์มดิบบ้าง สุกไม่เต็มที่บ้าง เมื่อขายเข้าโรงงานก็ถูกกดราคา
ตอนหลังจึงเริ่มรู้ว่าปาล์มดิบเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ โรงงานตีราคาจากเปอร์เซ็นต์น้ำมันแค่
17%
แต่ถ้ายืดเวลาตัดออกไปอีกนิดรอให้ปาล์มสุกเต็มที่
เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้น น้ำหนักมากขึ้น จะขายได้ราคามากขึ้น
“เวลาจะดูว่าปาล์มสุกเต็มที่ไหม ต้นเตี้ยๆ พอมองเห็นได้ แต่ถ้าต้นสูงๆ
ให้ดูจากเวลาสุกจะมีลูกสุกร่วงลงมาโคนต้น ถ้ามีลูกร่วง 3-7 เม็ดขึ้นไป
เปลือกในเป็นสีขมิ้นแก่ แสดงว่าสุกเต็มที่เกิน 90% ของทะลาย ตัดได้เลย หรือไม่ก็ให้สังเกตสี
ถ้าพันธุ์ที่ลูกสีดำ เวลาสุกจะสีแดงทั้งทะลาย พอตัดได้ แต่ถ้ายังมีเหลือบดำๆ
เว้นไว้ตัดรอบหน้า”
ปาล์มสุกทำให้ได้ราคาเพิ่มยังไง ...
เจ้าของสวนปาล์มที่หันมาตัดปาล์มสุกหลายปี บอกเล่าประสบการณ์ว่า
เมื่อเราตัดปาล์มสุก 90% ขึ้นไป
เปอร์เซ็นต์สูงเกิน 20% แน่นอน
สามารถนำไปต่อรองราคากับลานปาล์มได้ ถ้าลานปาล์มไม่ให้ราคาเพิ่มก็ต้องบรรทุกขายตรงกับโรงงาน
“ก่อนขายเราก็เช็กราคาว่าปาล์มสุก
ให้ราคาเท่าไหร่ สามารถต่อรองราคาได้ ที่ไหนให้ราคาสูงก็ขายที่นั่น ในรัศมีที่เราพอจะบรรทุกไหว”
อย่างไรก็ตามก็ยังต้องยอมรับว่า
โรงงานยังไม่ได้รับซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันจริงๆ
เพียงแต่อาจจะบวกเพิ่มให้เป็น 18-19% แต่ทุกๆ 1% จะได้ราคาเพิ่มขึ้น กก.ละ 30 สตางค์
หรือตันละ 300 บาท แต่เกษตรกรชาวสวนปาล์มส่วนใหญ่ยังมีเยอะที่ตัดปาล์มไม่สุกเต็มที่
โดยเฉพาะสวนปาล์มรายใหญ่ที่มีผลผลิตเยอะๆ หรือลานปาล์มใหญ่ๆ แม้จะตัดปาล์มดิบ
แต่เมื่อมีปริมาณ ก็เป็นที่เกรงใจของโรงงาน เมื่อชาวสวนปาล์มไม่ร่วมกันตัดปาล์มสุก
ก็ยากที่จะต่อรองราคากับโรงงานได้
“นี่เราพูดกันเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบที่หีบจากเปลือกชั้นนอก
ยังไม่คิดน้ำมันจากเมล็ดในเหมือนมาเลเซีย ซึ่งเป็นน้ำมันเกรดสูง
และมีราคาสูงมาก”
ปาล์มสุกเต็มที่ ทะลายใหญ่หนักไม่ต่ำกว่า 35 กก.
จะเห็นได้ว่า
นอกจากการบริหารจัดการสวนปาล์มที่ดี แล้ว สิ่งสำคัญที่ซ่อนปมปัญหาของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันก็คือ
ชาวสวนปาล์มยังตัดปาล์มดิบ หรือปาล์มสุกไม่เต็มที่
ขณะที่โรงหีบปาล์มยังรับซื้อผลปาล์มโดยคำนวณจากเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 17%
คำถามคือ ใครควรเริ่มต้นก่อน
ชาวสวนปาล์มควรเริ่มต้นตัดปาล์มสุกก่อน
หรือโรงงานควรรับซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันก่อน จนดูจะกลายเป็นปัญหา ไก่กับไข่
ใครควรเป็นผู้เริ่มต้นก่อน ซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่เท่าภูเขาทีต้องร่วมกันแก้และหาทางออก
แต่เหนืออื่นใด
ชาวสวนปาล์มเองควรต้องสร้าง “อำนาจ” หรือ “เครื่องต่อรอง” ขึ้นมาก่อน
เพราะตราบใดที่ยังตัดปาล์มดิบ ก็ไม่ต่างอะไรกับ “นักรบมือเปล่า”
ทางออกทางเดียวคือ หยุดตัดปาล์มดิบ หันมาตัดปาล์มสุก อย่างพร้อมเพรียง
เพื่อว่าอย่างน้อยก็เป็น “อาวุธ” ต่อรองโรงงานได้
ในท้ายที่สุด
ขอขอบคุณ
นายวโรภาส คำดา
87/1 ถ.บางทอง-คลองสุก หมู่ 1
ต.บางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี 84000
โทรศัพท์ 08-1970-8494
ลงโฆษณาโทร.08-6335-2703
ความคิดเห็น
Maravilhoso seu trabalho!!