ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สวนยาง 250 ไร่ รบกับภัยแล้ง แม้ "ชนะศึก" แต่ "แพ้สงคราม"

ใครปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสม หรือปลูกยางในพื้นที่แล้งบ้าง...ยกมือขึ้น...!!!
เชื่อว่าชาวสวนยางยกมือกัน “พรึบพรับ” จนนับมือไม่ถ้วนแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตามนาทีนี้ไม่ใช่เรื่องผิดมหันต์แต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้แม้กระทั่งพื้นที่เหมาะสมเอง ต่างก็ประสบภัยแล้งเพราะอากาศแปรปรวนไม่ต่างกัน

หัวใจของเรื่องจึงอยู่ที่ว่า เมื่อตัดสินใจปลูกยางแล้ว จะสู้และยืนหยัด ท้ารบกับภัยแล้ง” ได้อย่างไรต่างหาก

ยางปาล์มออนไลน์ มีวิธี “ทำสงคราม” กับความแล้ง จากเกษตรกรชาวสวนยางใน อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ มานำเสนอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและแล้งติดอันดับต้นๆ ของประเทศ  เขาทำอย่างไรมาให้ชมกัน 


Advertising


          พงศกร ปัญญาสร้างสรรค์

เจ้าของสวนยาง 250 ไร่ ใน อ.สามร้อยยอด คนที่กล่าวถึงก็คือ นายพงศกร ปัญญาสร้างสรรค์ แม้จะเป็นชาวสวนยางมือใหม่ แต่เขามีประสบการณ์ปลูกสับปะรด และขนุน ในพื้นที่นี้มาก่อน ซึ่งต้องสู้รบกับภัยแล้งมาโดยตลอด

“ก่อนจะตัดสินใจปลูกต้องดูภาพรวมของสภาพพื้นที่ว่าดินมีความสมบูรณ์มากหรือน้อย ถ้าสมบูรณ์น้อยแต่พอจะฟื้นฟูดินได้หรือไม่ หรือดูง่ายๆ จากพืชหลักที่เคยปลูกอยู่ก่อนอย่าง สับปะรด ถ้าปลูกสับปะรดงาม ก็ปลูกยางได้แน่นอน แต่หากพื้นที่ตรงไหนที่ปลูกสับปะรดได้ผลผลิตน้อยไม่งาม ก็ไม่ควรปลูกยาง เพราะต่อให้ต้นยางรอด ผลผลิตก็ได้น้อยอยู่ดี” นายพงศกรเล่า

ระบบน้ำ คือ อาวุธ สู้ภัยแล้งในสวนยาง

นับตั้งแต่ตัดสินใจโค่นสวนขนุน 200 ไร่ และพื้นที่ปลูกสับปะรดบางส่วนเพื่อสร้างสวนยาง อย่างแรกที่เขาทำคือ “ขุดสระ” กักเก็บน้ำ จำนวน 2 บ่อ ขนาด 1 ไร่(บ่อน้ำซึม) และขนาด 10 ไร่ (บ่อน้ำฝน) ไว้ใช้ในสวนยางช่วงหน้าแล้ง ซึ่งที่นี่แล้งยาวมาก
บ่อน้ำขนาด 10 ไร่ มีน้ำตลอดทั้งปี
สูบน้ำจากบ่อด้านล่างขึ้นมาบนเนินเขาเหนือนี้ จากนั้นก็ปล่อยให้น้ำไหลลงไปรดต้นยางด้านล่าง ช่วยประหยัดน้ำมัน
วิธีการให้น้ำในสวนยาง 250 ไร่ จะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกเขาจะสูบน้ำจากบ่อ 10 ไร่ ซึ่งอยู่ในจุดต่ำที่สุดของสวน ขึ้นมาบนเนินเขาเหนือสวนระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นก็ปล่อยให้น้ำไหลลงมาที่ต่ำตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีแทงก์เก็บน้ำ น้ำจะไหลลงมาด้านล่างรดต้นยางตามธรรมชาติ เป็นเทคนิคที่ช่วยประหยัดน้ำมันปั่นเครื่องสูบน้ำได้อีกทางหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งคือ สวนยางที่อยู่ในพื้นที่ราบก็ใช้เครื่องสูบน้ำรดผ่านระบบสปริงเกลอร์ธรรมดา ส่วนนี้ลงทุนระบบน้ำไปหลักล้านบาท

ช่วงเวลาให้น้ำสวนยางนายพงศกรให้ข้อมูลว่า จะให้ช่วงระหว่างฝนชุดที่ 1 กับชุดที่ 2 โดยพิจารณาว่าถ้าหมดฝนชุดที่ 1 แล้วความชื้นเริ่มจะน้อยลง แต่ฝนชุดที่ 2 ไม่มาสักที ก็ให้น้ำเพิ่มกับต้นยางเพื่อรอฝนชุดที่ 2 ทำให้ปริมาณน้ำยางที่กรีดได้ค่อนข้างนิ่ง แม้จะเผชิญอากาศแล้ง 
ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์
ระบบน้ำสปริงเกลอร์แบบยิงไกล 3-5 เมตร เป็นระบบหนึ่งที่พงศกรใช้ให้น้ำในสวนยางอายุ 2-3 ปี 
เขายังบอกว่า ระบบน้ำทำให้จัดการสวนยางง่ายขึ้น โดยเฉพาะการให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำได้ด้วยในช่วงแล้งก่อนเปิดกรีด  โดยไม่ต้องใช้แรงงานมาก และยังใช้ยาฆ่าหญ้าในขั้นตอนนี้ได้ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่ารดน้ำครั้งเดียวทำได้ทั้งให้น้ำ ให้ปุ๋ย และกำจัดวัชพืชในครั้งเดียว

เจ้าของสวนยาง 250 ไร่ อธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ว่า ระบบน้ำในสวนยางจะมี 2 ระบบ คือ หัวสปริงเกลอร์ยิงยาว และสปริงเกลอร์แบบปีกผีเสื้อ ระบบหลังนี่แหละที่เขาใช้ในสวนยางเปิดกรีด ซึ่งสปริงเกลอร์จะวางไว้ตรงกลางระหว่างแถวยาง รัศมีของน้ำจะไปไม่ถึงโคนต้นยาง ทำให้สามารถเดินทำงานได้ไม่เฉอะแฉะ และเชื้อราจากน้ำก็ไม่เกิดกับต้นยาง

การให้ปุ๋ยอย่างช่วงต้นฝนเราต้องการคอนโทรลให้ต้นยางแตกใบ ไม่ออกดอก ก็ใช้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมเข้าไปกับระบบน้ำ แต่ก่อนหน้านั้นต้องอัดน้ำให้ชุ่มให้รากฝอยเริ่มแตกสมบูรณ์ เพราะธรรมชาติของต้นยางเมื่อแล้งต้นจะคิดว่าอาจจะตายเลยพยายามจะขยายพันธุ์ออกดอกออกลูก บางทีไม่มีใบ แตกช่อดอกเลย เพราะฉะนั้นก่อนที่ต้นยางจะแตกดอกเราต้องรีบอัดยูเรีย ต้นยางจะแตกใบ และใบชุดนี้จะไม่เจอฝนกรดให้เสียหาย และสามารถเปิดกรีดได้ก่อน” 
น้ำหมักชีวภาพ ผสมให้ต้นยางเวลารดน้ำ
ในทุกครั้งที่มีการให้น้ำต้นยางเขาจะผสมปุ๋ยน้ำหมักหอยเชอรีที่หมักกับ สารพด.2 ด้วยทุกครั้ง เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้ต้นยางอีกทาง และยังใช้ยาฆ่าหญ่าในกลุ่มพาราคว็อต (กรัมม็อกโซน) พร้อมกันได้ ปุ๋ยหมักเป็นตัวเพิ่มประสิทธิภาพให้ยาฆ่าหญ้าทำงานได้ดีขึ้น 

การผสมยาฆ่าหญ้าโดยทั่วไปจะใส่ 3-4 ลิตร/น้ำ 1,000 ลิตร แต่ของผมจะใส่แค่ลิตรครึ่ง แต่บวกหอยเชอรีหมักไป 1 แกลลอน  ตัวยาฆ่าหญ้าจะทำให้หญ้าน็อค หอยเชอรีหมักจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาฆ่าหญ้ามากยิ่งขึ้น เหมือนหญ้าเปิดปากใบที่จะรับปุ๋ยหมัก แต่ดันไปโดนยาฆ่าหญ้า ซึ่งยาฆ่าหญ้าจะไม่มีปัญหากับรากยาง เพราะพาราควอต พอตกลงดินก็หมดฤทธิ์ เพราะเป็นยาประเภทเผาไหม้ ไม่ใช่ยาดูดซึม”

ปลูกสับปะรดแซมสวนยาง เพิ่มความชื้น และปุ๋ย ให้ต้นยาง

สับปะรดเป็นพืชแซมที่ดีในสวนยางในช่วงปลูกยางใหม่ ช่วยเสริมรายได้ในช่วงที่ยางไม่ได้ผลผลิตอย่างดี แต่อายุของสับปะรดจะอยู่ได้ประมาณ 3-4 ปี ต้นจะเริ่มหมดอายุ ขณะเดียวกันต้นยางก็เริ่มโตจนสับปะรดถูกบดบังแสง ช่วงนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่สนใจและปล่อยทิ้ง เพราะสับปะรดไม่ได้ผลผลิต อาจจะปั่นทิ้งเป็นปุ๋ยในสวนยาง 
 สภาพต้นยางที่ปลูกสับปะรดคลุมดินรักษาความชื้น
เมื่อยางอายุประมาณ 3-4 ปี สับปะรดจะหมดอายุ ต้องรื้อแล้วปลูกอีกรุ่น เพื่อเป็นพืชคลุมดิน ส่วนซากที่เหลือก็กองทิ้งให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยพืชสดแก่ต้น

แต่เทคนิคของนายพงศกร ไม่ทำอย่างนั้น เขาเลือกที่จะรื้อและปลูกใหม่อีกรุ่น แต่ปลูกให้ห่างขึ้น จาก 5 แถว เหลือเพียง 3 แถว เพื่อคลุมความชื้นหน้าดินในสวนยาง ส่วนซากสับปะรดที่เหลือก็ปล่อยให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบริเวณรอบๆ ต้น แต่ต้องไม่ทับถมกันแน่นจนเกิดกรดแก๊ส ต้นสับปะรดก็จะค่อยๆ ย่อยสลายไปเอง ในขณะเดียวกันยังสามารถเก็บความชื้นให้กับหน้าดินได้ และไม่มีวัชพืชขึ้น

ตรงนี้เราไม่ได้หวังเอาผลผลิตจากสับปะรดแล้ว แต่ต้องการรักษาความชื้น บำรุงดินและเพิ่มอาหารให้ต้นยาง ซากสับปะรดเราก็เร่งการย่อยโดยใช้ปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์รด ในขณะเดียวกันก็ไม่มีวัชพืชเกิด ดินดีขึ้น ดินนุ่มขึ้น มีที่อยู่อาศัยของรากฝอย

ประเด็นหลักของเขาก็คือทำอย่างไรก็แล้วแต่ ให้มีพืชคลุมดินให้เยอะที่สุดเพื่อสู้กับภัยแล้งให้ได้ ความชื้นน้อย พอฝนตกหรือรดน้ำก็จะเก็บความชื้นไว้ได้นาน

“ถ้าเราปล่อยโล่งๆ รดวันนี้พรุ่งนี้ก็แห้ง ไม่มีประโยชน์ กลับกับทางภาคใต้ต้องปล่อยให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้มีความชื้นจนเกินไป เพราะมีความชื้นตลอด แต่ของเราต้องช่วยสะสมความชื้น” 
เศษซากต้นสับปะรดที่รื้อทิ้งปล่อยเป็นปุ๋ยพืชสด
สภาพความสมบูรณ์ของดินในสวนยาง
สรุปเทคนิคการสร้างสวนยางในพื้นที่แล้ง

1. ก่อนปลูกตัดสินใจปลูกต้องพิจารณาความสมบูรณ์ของพื้นที่ว่ามากหรือน้อย และพอฟื้นฟูดินได้หรือไม่ โดยดูจากพืชหลักที่เคยปลูกเช่น สับปะรด เป็นต้น

2. ต้องมีแหล่งน้ำ ในช่วงหน้าแล้ง ไม่ได้หวังว่าจะรดให้ชุ่มเหมือนฝนตก อาศัยแค่ประคองในช่วงที่แล้งจัดๆ หรือในช่วงที่เราต้องการความชื้นเพื่อให้ปุ๋ย เพื่อให้ต้นยางดูดปุ๋ยไปเลี้ยงต้นได้ หรือในช่วงเปิดกรีดแล้วเกิดแล้ว ปริมาณน้ำยางเริ่มลด ถ้าเราปล่อยไว้เดี๋ยวใบร่วง เราก็ต้องมีน้ำให้ช่วงนี้เพื่อรอฝนชุดใหม่ ปริมาณผลผลิตจะคงที่

น้ำยังช่วยให้ต้นยางแตกใบอ่อนก่อน สามารถเปิดกรีดได้ก่อน และยืดเวลาการกรีดจาก 8 เดือน เป็น 10 เดือน/ปีได้

3. หาเทคนิควิธีรักษาความชื้นในสวนยางให้นานที่สุด ทีเด็ดก็คือสับปะรด 
อย่างไรก็ตาม สวนยางของคุณพงศกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนักหน่วงเมื่อปี 2559 เขาให้ข้อมูลว่า ปีที่แล้วสภาพอากาศร้อนและแล้งอย่างเลวร้ายมาก อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 40 องศา และแล้งยาวนานโดยไม่มีฝนมาช่วง สระน้ำขนาด 10 ไร่ที่ปกติจะมีน้ำเพียงพอสำหรับให้ต้นยางในหน้าแล้งแห้งขอด

สุดท้ายสวนยางยืนต้นตายอย่างสิ้นเชิง เหลือบางส่วนเท่านั้นที่ตายยอด ทำให้หลงเหลือให้ฟื้นฟูได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันเริ่มกลับมาให้ผลผลิตแล้ว

ส่วนพื้นที่ที่สวนยางเสียหายได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกสับปะรดสี 

ในที่สุดการสู้รบกับภัยแล้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้เขาจะเป็น "ผู้ชนะศึก" มาโดยตลอด หากแต่เขาต้อง "แพ้สงคราม" ในท้ายที่สุด





คลิกชมวิดีโอจุดเริ่มต้นและความเสียหายจากภัยแล้งของเขาได้ที่นี้

ขอขอบคุณ
พงศกร ปัญญาสร้างสรรค์
อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โทรศัพท์ 08-6168-3939
#ยางพารา #สวนยาง





สนใจลงโฆษณา โทร 08-6335-2703

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โค่นยาง ปลูกปาล์ม “พันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่า” 100 ไร่ อายุแค่ 40 เดือน คาดผลผลิตเฉียด 3 ตัน/ไร่/ปี

สืบเนื่องจากโพสต์ใน   Facebook   กลุ่มปาล์มน้ำมัน   ของ   กิตติชัย   ก่ออ้อ   เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์   2560   ที่นำภาพสวนปาล์มแห่งหนึ่งใน อ . อ่าวลึก   จ . กระบี่   มาโพสต์ให้คนในกลุ่มชม โดยภาพนั้นเป็นต้นปาล์มวัยแค่   40   เดือน   แต่กลับให้ทะลายเต็มจนทะลักคอทุกต้น   ส่วนใหญ่ทะลาย 3 ชั้น ทีมงานยางปาล์มออนไลน์เห็นแล้วตาลุกโชนเพราะทึ่งปนตะลึง เช่นเดียวกับสมาชิกที่ติดตามกลุ่มปาล์มน้ำมันกว่า 25,600 คน ก่อนที่เราจะตกลงกันว่าต้องเดินทางลงกระบี่เพื่อไปดูให้เห็นกับลูกตา     หากแต่จุดประสงค์หลักเราต้องการเจาะลึกเทคนิคบริหารจัดการสวนปาล์มจากเจ้าของสวน   โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจาก   บริษัท   โกลด์เด้นออยล์ปาล์ม จำกัด   ซึ่งเป็นพันธุ์ปาล์มที่สวนแห่งนี้ใช้ปลูกจำนวน   100   ไร่   และโชคดีที่   ดร . เอนก   ลิ่มศรีวิไล   เจ้าของและผู้พัฒนาสายพันธุ์ ปาล์มโกลด์เด้นเทเนอร่า   เดินทางไปชมพร้อมกับทีมงานด้วย เมื่อเดินทางถึงสวนปาล์มแห่งนี้   ดร . เอนก   คว้ากล้องคู่กายเดินถ่ายภาพและหายลับเข้าไปในสวนปาล์ม   ได้ยินแต่เสียงร้องอุทานเป็นระยะๆ หลังจากเห็นทะลายปาล์มดกเต็มคอทุกต้น   ซึ่ง

ทึ่ง..สวนปาล์มผลผลิต 7.3 ตัน/ไร่/ปี ต้นทุนต่ำน่าเหลือเชื่อ ผลงาน โสฬส เดชมณี

บอกใคร ใครเขาจะเชื่อ... !!! สวนปาล์มขนาด 44 ไร่ อายุ 8 ปี ทำผลผลิตได้ 7.3 ตัน/ไร่/ปี และตั้งเป้าจะปั๊มผลผลิตทะลุ 8 ตัน ในปีที่ 9 และ 10 ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ยทั้งประเทศ 3 ตัน/ไร่/ปี “ยังไม่ถึงที” (ขอยืนสำนวนคนใต้มาใช้) “โกหกแล้ว บ้าไปแล้ว” “7.3 ตัน สูงไปมั้ยครับ” นี่คือส่วนหนึ่งของคอมเมนต์ในเพจยาง & ปาล์มออนไลน์ หลังจากทีมงานนำข้อมูลผลผลิตของสวนปาล์มแห่งนี้ไปโพสต์ สะท้อนข้อมูลที่ย้อนแย้งต่อความรู้สึกของชาวสวนปาล์มจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า ตัวเลขนี้ไม่ใช่เรื่องจริง ยิ่งเมื่อแบข้อมูล “ต้นทุน” การจัดการสวนปาล์มทั้งระบบ บางปีมีต้นทุนต่ำเพียงแค่ 1.30 บาท/ปาล์ม 1 กก. ก็ยิ่งไม่น่าเชื่อ ถ้าเป็นภาษาใต้ก็ต้องบอกว่า “โกหกทั้งเพ” นายโสฬส เดชมณี เจ้าของสวนปาล์ม 44 ไร่ ทำผลผลิตได้ 7.3 ตัน/ไร่/ปี  หากแต่พวกเราทีมงานยาง & ปาล์มออนไลน์ ยืนยันว่า ข้อมูลนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับสวนปาล์มของ นายโสฬส เดชมณี เกษตรกรชาวสวนปาล์มหัวก้าวหน้าแบบ  “ ติดจรวด ”  ของ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี สวนปาล์มที่ได้รับคำชื่นชมว่ามีระบบการจัดการสวนที่ดี พอๆ กับเป็นสวนปาล์มที่ใ

ลงทุน ธุรกิจยางเครป อย่างไร ให้มีกำไร

พูดถึงธุรกิจการแปรรูปน้ำยางพาราตอนนี้ “ยางก้อนถ้วย” ดูจะเป็นคำตอบต้นๆ สำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะพี่น้องสวนยางภาคเหนือและอีสานนิยมทำยางก้อนถ้วย เนื่องจากทำง่าย ใช้เวลาน้อย ต่างจากการทำยางแผ่นซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งวัน แถมในกระบวนการผลิตยังต้องใช้น้ำปริมาณมาก ตรงข้ามกับการทำยางก้อนถ้วยที่ไม่ต้องใช้น้ำในกระบวนการเลยและเกษตรกรทำเองได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงงานมาก เมื่อก่อนการจำหน่ายยางก้อนถ้วยอาจเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น แต่กลับพบว่ามีจุดอ่อนบางประการทำให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ ถูกกดราคาซื้อเนื่องจากปริมาณน้ำในก้อนยาง   คุณประธาน สังหาญ  (ซ้าย) ธุรกิจยางเครป จึงเกิดขึ้นเพื่อลบจุดอ่อนนี้ ทีมงานยาง & ปาล์มออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ คุณประธาน สังหาญ  หนึ่งในผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ ปัจจุบันได้ให้คำปรึกษากับพ่อค้ารับซื้อยางก้อนถ้วยเพื่อผลิตยางเครปส่งโรงงานและกลุ่มเกษตรกรหลายแห่งในเขตภาคเหนือ-อีสานเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจยางเครป โดยมีประเด็นสำคัญคือ ทำยางเครปอย่างไรให้ได้กำไร ศาสตร์ของการทำยางเครป “ไม่ขาดทุน” ที่ คุณประธาน สรุปคร่าวๆ มี 6 ข้อ หรือที่เขาเรียกว่า 6M