ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

บริษัท เพื่อกระบี่ ปาล์มออยล์ ถือธงนำ ซื้อปาล์มสุก ตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน โมเดลยกระดับคุณภาพปาล์มน้ำมันไทย

ทำไมเกษตรกรจึงตัดปาล์มดิบ..???
ทำไมโรงงานไม่ซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน???
แล้วทำไมโรงงานจึงตั้งราคาจากน้ำมันแค่ 17%???

“เครื่องหมายคำถาม” ที่ฝังอยู่ในวงการปาล์มน้ำมันไทยมานาน

นานพอๆ กับได้ยินแนวทางแก้ไข เรื่องนี้ที่ฟังแล้วง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วย 

ก็แค่โรงงานไม่ซื้อปาล์มดิบ เกษตรกรก็จะตัดปาล์มสุกเอง แล้วคำนวณราคาจากเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่แท้จริง

เพียงแต่ปัญหาของเรื่องนี้เหมือน “ภูเขาน้ำแข็ง”  เห็นแต่ยอดนึกว่าง่าย แต่มันซ่อนปัญหา “ก้อนมหึมา” ไว้ใต้น้ำ 
ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการซื้อขายปาล์มไม่เป็นธรรม

แม้จะมีเวทีถกถึงเรื่องนี้กันมานาน แต่ทุกครั้งก็ไม่ได้บทสรุป 
เพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน เกษตรกร ลานเท โรงงานหีบ โรงกลั่น และรวมไปถึงภาครัฐ กลายเป็นเรื่องใหญ่เกินจะถกให้ตกผลึกได้ง่ายๆ

วงการปาล์มเชื่อว่า พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน ที่มีบทบัญญัติเรื่องปาล์มคุณภาพ จะเป็น “ฮีโร่ขี่ม้าขาว” มาแก้ปัญหานี้ได้
 

แต่ถามว่าเมื่อไหร่ พ.ร.บ.นี้จึงจะคลอดและได้ใช้...!!!

“ผมไม่รอ พ.ร.บไม่นั่งรอกฎกติกาใหม่ เพราะทำธุรกิจอย่างผมนี่มันรอไม่ได้  แล้วเรามามองว่าทำเพื่อวงการปาล์ม  แต่ประโยชน์ได้ที่ตัวโรงงานและเกษตรกรเอง 

นายบุญรักษ์ อุ่นยวง มือใหม่ไฟแรงในธุรกิจโรงหีบ  ในชื่อ บริษัท เพื่อกระบี่ปาล์มออยล์ จำกัด ที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการ บอกแรงขับเคลื่อน ในการเดินหน้าซื้อปาล์มสุกตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน หรือที่เรียกว่า “ปาล์มคุณภาพ”

โรงงานนี้ดังมากในวงการ เนื่องจากเป็นโรงงานที่กล้ารับซื้อเฉพาะปาล์มสุก ตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 

แม้จะเป็นเพียงโรงงานเล็กๆ แค่ 120 ตัน/วัน หากแต่นี่คือการ “ถือธงนำ” เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย

“ผมเริ่มต้นเปิดรับซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ปี 2558 ลูกค้าเริ่มหายเดือนละ 10 ราย หนักสุดในช่วงต้นปี 2559 เราไม่ได้หีบเลย เพราะลูกค้าเหลือเพียงแค่ 4 ราย”

แค่ไม่กี่เดือนผู้นำก็ธงหักซะแล้ว เพราะแม้จะซื้อราคาสูงเพื่อต้องการคุณภาพ แต่ปาล์มคุณภาพไม่ได้มากับราคาด้วย

“ลุงคนหนึ่งขนปาล์มมา ตัน มาถึงบอกจะเอาราคา 20% แต่พอคัดจริงๆ ได้ปาล์มสุกแค่ตันเดียว ที่เหลือ 17% เขาก็ขนกลับไปไม่ขายให้”

นี่คือสาเหตุที่ทำให้ลูกค้ารายย่อยจาก 400 รายเหลือเพียงแค่ รายเท่านั้น 
🌿 เกษตรกรตัดปาล์มสุกมาขาย ได้ราคาตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
ปัญหาใหญ่ที่พบก็คือ เกษตรกรตัดปาล์มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 17-18% และส่วนใหญ่ เป็น 17% เท่านั้น
 
ก่อนจะหยุดเดินเครื่องจักรชั่วคราวช่วงกลางปี 2559

ในระหว่างนั้นเขาได้ไปศึกษาเรื่องปาล์มน้ำมันจาก ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล เซียนปาล์มชื่อดังของ จ. กระบี่ ก่อนจะร่วมมือกันทำงานทดลองการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันในระบบหีบของโรงงาน

ถามว่าทำไมจึงต้องทดลองหีบจริงในโรงงาน จุดประสงค์ก็เพื่อเก็บข้อมูลว่าลักษณะปาล์มอย่างไรจึงจะได้เปอร์เซ็นต์สูงที่สุด ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับประเมินปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม

“ผมไปเรียนกับ ดร.อเนก อยู่นานพอสมควร ทดลองนำปาล์มสุกแถว อ.อ่าวลึก มาหีบครั้งละ 30-40 ตัน เพื่อเทสในระบบว่า OER  (Oil Extraction Rate) เป็นอย่างไร ครั้งแรกทำได้  21- 22%  ซึ่งเราก็มองว่ามันต่ำกว่าเกณฑ์ ที่วางไว้

“หลังจากนั้นก็เลยมาเน้นเรื่องการเก็บเกี่ยว ตอนแรกปาล์มสุกที่เอาเข้ามาเทส ยังไม่เน้นทะลายที่มีร่วง เราก็เลยทำตัวอย่างใหม่ต้องมีลูกร่วงทุกทะลาย  โดยได้จากสวนปาล์มขนาด 3,000 ไร่ เป็นพันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่า  เทสครั้งแรก ได้ 21%กว่าๆ เทสครั้งที่ 2 ได้ 22.75% ครั้งที่ 3 ไปถึง 23% อยู่อย่างนี้ประมาณ 3-4 เดือน จนมั่นใจ ปาล์มที่มีลูกร่วงทุกทะลายจะได้น้ำมันสูง 22-23%
🌿  ปาล์มสุกต้องสุกไปถึงลูกปาล์มชั้นใน
“จากการทดลองหีบปาล์มสุก จากทะลายที่มีลูกร่วง เห็นชัดเลยว่าแม้ปริมาณปาล์มเท่าเดิม แต่ได้น้ำมันเพิ่มขึ้น หีบได้เร็วกว่าเดิม กลายเป็นว่าเราทำงานน้อยลง ชั่วโมงทำงานเราน้อยลง เครื่องจักรสึกหรอน้อยลง แต่ได้น้ำมันเยอะกว่าเดิม” 

หลังจากได้ข้อมูลจากการทดลองหีบปาล์มสุกในลักษณะต่างๆ การรับซื้อปาล์มสุกตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ของบริษัท เพื่อกระบี่ฯ จึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

การทำงานเพื่อให้ได้ปาล์มสุกเข้าโรงงาน เขาบอกว่าจำเป็นต้องลงพื้นที่ไปสร้างความเข้าใจใหม่กับ “คนตัดปาล์ม” ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ เพราะส่วนใหญ่มักจะเคยชินกับการตัดปาล์มแบบผิดๆ โดยเน้นไปที่สวนปาล์มแปลงใหญ่ ควบคุมการตัดได้ง่ายกว่ารายย่อย และมีปริมาณปาล์มมากพอ
 Advertising
ลงโฆษณา โทร 08-6335-2703

ปัญหาที่พบในช่วงแรก คนตัดปาล์มมักจะบอกว่า ตัดปาล์มทะลายที่มีลูกร่วงยุ่งยาก ต้องเก็บลูกร่วง แต่ละครั้งได้ทะลายสุกน้อยจึงมีรายได้น้อยตามไปด้วย

งานของเขาคือ เข้าไปแนะนำและเปลี่ยนพฤติกรรมการตัดปาล์ม และติดตามผล รวมถึงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และราคาที่จะได้สูงขึ้น

“ปกติคนตัดปาล์มมักจะติดนิสัยชอบปาดลูกดูว่าสุกหรือไม่สุก เขาคิดว่าถ้าสุกเนื้อมันจะเหลืองๆ แต่ส่วนใหญ่มันไม่สุกหรอกยังไม่สุกหรอก และเป็นเหมือนกันหมดถ้าลองได้ยกเคียวปาดแล้วก็เกี่ยวมันลงมาซะเลย ซึ่งเปอร์เซ็นต์มันต่ำมาก
🌿 วิธีตัดปาล์มคุณภาพ ตัดเฉพาะทะลายที่มีลูกร่วง และตัดก้านให้สั้น
“วิธีที่ผมแนะนำคนตัดปาล์มสุกง่ายๆ เลย แค่มีลูกร่วงโคนต้นแค่นั้น พอเราไปเปลี่ยนแปลงให้ความรู้กับทีมตัด ทุกวันนี้ เขาบอกเลยตัดปาล์มสุกนี่ง่าย ไม่ปวดคอ ไม่เมื่อยคอเพราะเดินดูใต้โคนอย่างเดียว

สร้างแนวคิด ลืมภาพปาล์มดิบ ตัดเฉพาะปาล์มที่มีลูกร่วงเท่านั้น

ความยุ่งยากของการตัดปาล์มสุกก็คือ เกษตรกรยังติดกับภาพสีของทะลายว่าปาล์มสุกต้องสีแดง ถ้าดิบต้องสีดำ ยิ่งปาล์มกึ่งดิบกึ่งสุกดูยากมาก 

นายบุญรักษ์ บอกว่า ง่ายๆ เพียงแค่ลืมภาพเหล่านี้ไป ให้จำแค่ว่าตัดเฉพาะปาล์มสุกที่มีลูกร่วงเท่านั้น

หากแต่ในทางปฏิบัติในช่วงเริ่มต้นการรับซื้อปาล์มสุกของเพื่อกระบี่ฯ จะรับซื้อผลปาล์มตั้งแต่ 19% ขึ้นไป โดยใช้วิธีพิจารณาจาก สัดส่วนลูกร่วง และทะลายปาล์มสุก เป็นหลัก โดยอาจจะติดปาล์มที่ยังไม่มีลูกร่วงมาได้บ้างไม่เกิน 5%

“โดยปกติการคิดราคาตามเปอร์เซ็นต์ ถ้าจะขายได้ 20% สมมุติปาล์ม 100 กกต้องมีลูกร่วงติดมาอย่างน้อย 8-10%  ปาล์ม อาจจะมีปน 19% มาได้บ้างแต่ไม่เกิน 5% ของน้ำหนักทั้งหมด ที่เหลือต้องเป็นปาล์ม 20% ขึ้นไป ในภาพรวมถึงจะเป็นปาล์ม 20% แต่ถ้าติดลูกร่วงมาไม่เกิน 7% ของน้ำหนักทั้งหมด ไม่มีทางได้ปาล์ม 20%  ก็จะได้ 18-19%

สาเหตุที่ลูกร่วงมีความสำคัญเพราะเป็นปาล์มสุกเต็มที่  มีน้ำมันสูงมากนั่งเอง

นายบุญรักษ์ อธิบายว่า วิธีดูทะลายปาล์มว่ามีน้ำมันกี่เปอร์เซ็นต์ ดูง่ายๆ ถ้าไม่มีลูกปาล์มร่วงแต่สีดำแดงคล้ำๆ หน่อยประมาณ 17% ถ้าแดงทั้งทะลายแต่ไม่มีลูกร่วง 18-19% แต่ถ้ามีลูกร่วงทุกทะลายจะได้ 20% ขึ้นไป 
🌿 ลักษณะปาล์มสีแดงคล้ำ แต่ไม่มีลูกร่วง น้ำมันไม่เกิน 18-19%
🌿 ตัวอย่างปาล์มสุกมีลูกร่วง น้ำมัน 20%ขึ้นไป
“ผมเคยทำภาพออกมาเป็น 3 ภาพ ให้เกษตรกรดูในการบรรยายเวทีหนึ่ง เปรียบเทียบลักษณะสีทะลายแบบต่างๆ  ก็มีคนมาแย้งว่ามันดูยากมากเลยระหว่างปาล์ม 17% กับ 18-19%

“ผมเลยบอกว่า ทำไมไม่ตัด 2ภาพแรกนั่นทิ้งไป ไม่ต้องไปด็ม่ต่้องจำมัน แล้วจำแต่ภาพปาล์มที่มีลูกร่วง ซึ่งดูง่ายมาก 

“ถ้ายังไม่ร่วงเก็บมันไว้บนต้นมันไม่ได้หายเดี๋ยวรอบหน้าก็ตัดได้อีก จำแค่ตัดทะลายที่มีลูกร่วง น้ำมัน 20% ขึ้นไป ดูง่ายกว่าตั้งเยอะ

ข้อดีของปาล์มสุก วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย

ตัดปาล์มสุก ทุกทะลายแล้วได้อะไร...???
นายบุญรักษ์บอกว่า ชัดเจนที่สุด คือ เกษตรกรขายปาล์มได้ราคาสูงขึ้น กว่าปกติ 30 สตางค์ /กก. ในน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% หรือ ตันละ 300 บาท 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าปัจจุบันตัดปาล์ม 17% ถ้าเพิ่มมาทำปาล์มสุก 20% น้ำมันเพิ่มขึ้น 3% จะได้ราคาสูงขึ้น 1.20 บาท/กก. หรือ 900 บาท/ตัน

ขณะที่คนตัดปาล์มทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องเงยดูปาล์มให้เมื่อยคอ แค่ก้มมองหาลูกร่วงโคนต้น ถ้ามีลูกร่วงค่อยยกเคียวตัด ขณะเดียวกันจะได้ส่วนแบ่งจากเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่มขึ้น 

🌿 เปรียบเทียบผลปาล์มสุกทางด้านซ้ายสีส้มจัดน้ำมันสูง ส่วนด้านขวาผลยังสีขาวน้ำมันต่ำ 
“ในครั้งแรกที่ตัดปาล์มสุก คนตัดเขาจะได้ปาล์มน้อยลง เช่นเมื่อก่อนตัดตามปกติได้ 10 ตัน แต่พอมาตัดปาล์มสุกจะได้แค่ 5 ตัน มันจะหายไปครึ่งหนึ่งเนื่องจากปาล์ม 17-18% ที่เมื่อก่อนเคยตัดยังอยู่บนต้น มันจะค่อยๆ ทยอยสุก 

“ทีนี้คนตัดจะได้รายได้ต่อไร่น้อยลง เพราะเหลือแค่ 5 ตัน แต่ถ้าตัดแบ่งรอบตัด 10-15 วัน ปริมาณปาล์มจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และะะไปชนรอบอีกทีในรอบที่ 4 จะตัดได้ครั้งละ 10 ตันเหมือนเคย 

“ผมเลยคุยกับเจ้าของว่าเอาอย่างนี้พอเราเทสน้ำมันได้ที่ 20% จากเมื่อก่อนได้ 17% เพิ่มขึ้นมา 3% เจ้าของสวนต้องเพิ่มให้ลูกน้องหรือคนตัด % ละ 100 บาท จากเดิมได้ตันละ 400 ก็เพิ่มอีก 300 เป็นตันละ 700 บาท ทีนี้ตัดปาล์มสุกได้จำนวนทะลายน้อยลง แต่ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

ซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน แนวทางที่ยั่งยืน

ทุกวันนี้ตัวเลขค่าเฉลี่ยน้ำมันจากการหีบของโรงงานที่ยึดกันคือ 17-18% ราคาซื้อทะลายจึงใช้ตัวเลขนี้เป็นฐาน แม้จะตัดปาล์มสุกไปถ้าโรงงานไม่ซื้อตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ก็ขายได้แค่ 17%

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม่เกษตรกรจึงตัดปาล์มดิบ เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ และยิ่งเมื่อมีโรงงานหีบปาล์มเกิดขึ้นจำนวนมาก จึงเกิด “สงคราม” แย่งชิงปาล์มป้อนโรงงาน โดยซื้อราคาสูงในบางช่วง และที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ซื้อโดยไม่สนคุณภาพ ขอแค่ไม่ต่ำกว่า 17% เท่านั้นพอ 
 🌿กากปาล์มที่เหลือจากหีบน้ำมัน มีมูลค่า ให้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น อาหารสัตว์ เป็นต้น
 🌿 เมล็ดใน เป็นส่วนที่มีน้ำมันคุณภาพสูงใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มีมูลค่าสูก ปัจจุบัน บริษัทเพื่อกระบี่ๆ พัฒนาเครื่องจักรกระเทาะกะลาเมล็ดในจนสำเร็จ
เรื่องนี้นายบุญรักษ์ ช่วยขยายความว่า ในวงการปาล์มผลประโยชน์มันเยอะแล้วมันมีหลายฝ่าย เกษตรกร พ่อค้าคนกลาง/จุดรับซื้อ และโรงงาน 

“เชื่อมั้ยว่า ปาล์มดิบที่เข้าโรงงาน น้ำมัน 1 เปอร์เซ็นต์ที่หายไป เท่ากับเงิน 9 ล้านบาทต่อปาล์ม 36,000 ตัน ถ้ารวมปริมาณปาล์มทั้งประเทศเงินสูญไปมหาศาล อันนั้นเกษตรกรก็ไม่ได้ โรงงานก็ไม่ได้ 

“แตโรงงานนี่โชคดีกว่าเกษตรกรตรงที่ว่าเวลาซื้อปาล์ม 1 ทะลายที่ 17% จะได้เม็ดในมาด้วย ซึ่งเม็ดในนี่เป็นของฟรี ได้กำไรล้วนๆ

“ฉะนั้นผมจึงพยายามชี้ให้เกษตรกรเห็นว่าคนที่สูญเสียมากที่สุดคือ เกษตรกร

“สำหรับโรงงาน ในปาล์ม 1 ทะลาย มีน้ำมัน มีเม็ดใน มีกะลา มีกาก มีน้ำเสียที่เอาไปทำไบโอแก๊ส วันนี้โรงงานจึงไม่สนใจว่าคุณจะตัดปาล์มอะไรมาขอแค่อย่าตัดดิบ เพราะตัดดิบมันจะไม่ได้เม็ดใน คือปาล์มมันยังไม่สร้างเม็ด เขาถึงซื้อ 17% แล้วเขาอยู่ได้

“ผมยกตัวอย่างว่าเขาซื้อปาล์ม 1,000 ตัน มีเม็ดใน 5% ลองเอามาคูณ 1,000 ตัน แล้วคูณ 20 บาท นั่นคือราคา/วัน”

(ทีมงานลองคำนวณตาม ปาล์ม 1,000 ตัน โรงงานจะได้เมล็ดใน 50 ตัน หรือ 50,000 กก. ขาย กก.ละ 20 บาท จะเท่ากับเงิน 1 ล้านบาท)

“แต่ผมมองว่าอย่างนี้มันไม่ยั่งยืน” บุญรักษ์ สรุป

 🌿 ปาล์มสุก มีน้ำมันสูง ช่วยให้โรงงานลดต้นทุนหลายๆ ด้าน หีบปาล์มน้อยลง แต่ได้น้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์โรงหีบขนาดเล็ก 

บริษัท เพื่อกระบี่ฯ จุดแสงเทียน เพื่อสร้างปาล์มคุณภาพ

“เราทำปาล์มคุณภาพแบบนี้เราถือเอาเป็นโมเดล อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ไม่เลวร้ายเหมือนเดิม ผมลงไปเยี่ยมสวนบ่อยๆ ไปเจอคนตัด เจอเจ้าของสวนแล้วมีความสุข ขายปาล์มได้ราคาเพิ่มขึ้น คนตัดได้เงินมากขึ้น 

“ผมเป็นโรงงานก็มีความสุขเพราะได้น้ำมันมากขึ้น เครื่องจักรผมก็ดีไม่เสียหายต้นทุนผมก็ลด คือทุกอย่างมันส่งผลดีผูกกันหมด 

“ตอนนี้สิ่งที่ผมทำมันเหมือนเทียนเล่มเล็กๆ แสงไม่สว่างมาก แต่เป็นงานที่มันท้าทาย อาจจะไม่เห็นผลในวันหรือสองวัน แต่ผมก็ยังมองว่าหลังจาก บริษัท เพื่อกระบี่ ซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์ มันเกิดกระแสตัดปาล์มสุกมากขึ้น และมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น เริ่มมองเห็นการพัฒนาไปในทางที่ดีในอนาคต”

ข่าวดีก็คือ โรงงานหีบปาล์มในลักษณะเดียวกับ บริษัทเพื่อกระบี่ฯ ซึ่งเป็นโรงสกัดน้ำมันปาล์มแบบแห้ง (Dry Process) ไม่มีขยะเหลือเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม (Zero Waste) กำลังจำเกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 9 โรง ในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยมีที่นี่เป็นต้นแบบ

“กว่าที่ผมจะทำอย่างนี้ได้ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร แต่อย่างหนึ่งที่ผมมีความใฝ่ฝัน ความทะเยอทะยายอยู่ ก็คือ เรื่องปาล์มคุณภาพ วันนี้ผมพิสูจน์ให้คนในวงการปาล์มเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะมาเลเซียที่ทำปาล์มคุณภาพได้ คนไทยก็ทำได้ ไม่ใช่ว่าโรงงานผมมันวิเศษ แต่ที่ผ่านมามันเกิดจากพวกคุณไม่ยอมทำกันเอง” 
บทสรุป

อุตสาหกรรมปาล์มไทยอาจจะ “พัง” เพราะ “ปาล์มดิบ” 

แต่วันนี้ บริษัท เพื่อกระบี่ปาล์มออยล์ จำกัด  ได้จุดแสงสว่างขึ้นเพื่อส่องให้เห็นทางแก้ และทางออกของปัญหานี้แล้ว 

ด้วยวิธีตั้งกฎเหล็ก รับซื้อเฉพาะปาล์มสุก และให้ราคาตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ซึ่งเป็นงานยากเหมือน “ย้ายภูเขา” ทั้งลูก
🌿 ปาล์มดิบ อาจจะทำอุตสาหกรรมปาล์มพัง
แต่จะเห็นว่า เจ้าของโรงงานเพื่อกระบี่ ลงไปศึกษาตั้งแต่สายพันธุ์ วิธีการปลูก พฤติกรรมการทำสวนปาล์มของเกษตรกร และวิธีเก็บเกี่ยว เป็นต้น ทุกขั้นตอนล้วนโยงใยถึงปาล์มคุณภาพทั้งสิ้น

ก่อนจะชักชวนเกษตรกรชาวสวนปาล์มหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่งรวมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยวิธีง่ายๆ แค่ตัดปาล์มสุก เฉพาะทะลายที่มีลูกร่วง ขายโรงงาน และสร้างผลตอบแทนแบบ วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย

เพราะเพียงแค่ตัดปาล์มสุก เกษตรกรจะได้น้ำหนักต่อทะลายเพิ่มขึ้น เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% และจะได้ราคาสูงขึ้นอย่างน้อย 30 สตางค์/กก. ในทุก 1% น้ำมันที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่โรงงานก็บริหารจัดการง่ายขึ้น ลดการลดสึกหรอของเครื่องจักร รวมถึงลดต้นทุนเกือบทุกตัว เพราะหีบปาล์มแล้วได้น้ำมันเพิ่มขึ้น 
เรื่องน่าดีใจก็คือ ขบวนการตัดปาล์มสุกเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงกำลังขยายตัวมากขึ้น และกำลังจะกลายเป็นโมเดลเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมปาล์มไทย

จากการนั่งพูดคุยกับคุณบุญรักษ์ร่วม 3 ชั่วโมง จึงรู้ว่า การทำปาล์มคุณภาพทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อผลประโยชน์ในภาพรวม และสุดท้ายประโยชน์จะกระจายไปสู่ทุกภาคส่วน

ขอเพียงแค่ทุกฝ่ายไม่เห็นแก่ตัว ก็จะสามารถ “ย้ายภูเขา” ทั้งลูกได้ ไม่ยากเลย

ขอขอบคุณ
คุณบุญรักษ์ อุ่นยวง
บริษัท เพื่อกระบี่ ปาล์มออยล์ จำกัด
104 หมู่ 7 ถ.คลองท่วมใต้-ทุ่งใหญ่ ต.พรุดินนา อ.คลองท่อม จ.กระบี่ 81120 โทรศัพท์ 08-6328-9294





Advertising
ลงโฆษณาโทร.08-6335-2703

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
5สวยงามมาก ๆเลยครับ
solo2513 กล่าวว่า
อยากทำเป็นมั่ง สวยมาก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ขอบคุณสำหรับสาระดีๆครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โค่นยาง ปลูกปาล์ม “พันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่า” 100 ไร่ อายุแค่ 40 เดือน คาดผลผลิตเฉียด 3 ตัน/ไร่/ปี

สืบเนื่องจากโพสต์ใน   Facebook   กลุ่มปาล์มน้ำมัน   ของ   กิตติชัย   ก่ออ้อ   เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์   2560   ที่นำภาพสวนปาล์มแห่งหนึ่งใน อ . อ่าวลึก   จ . กระบี่   มาโพสต์ให้คนในกลุ่มชม โดยภาพนั้นเป็นต้นปาล์มวัยแค่   40   เดือน   แต่กลับให้ทะลายเต็มจนทะลักคอทุกต้น   ส่วนใหญ่ทะลาย 3 ชั้น ทีมงานยางปาล์มออนไลน์เห็นแล้วตาลุกโชนเพราะทึ่งปนตะลึง เช่นเดียวกับสมาชิกที่ติดตามกลุ่มปาล์มน้ำมันกว่า 25,600 คน ก่อนที่เราจะตกลงกันว่าต้องเดินทางลงกระบี่เพื่อไปดูให้เห็นกับลูกตา     หากแต่จุดประสงค์หลักเราต้องการเจาะลึกเทคนิคบริหารจัดการสวนปาล์มจากเจ้าของสวน   โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจาก   บริษัท   โกลด์เด้นออยล์ปาล์ม จำกัด   ซึ่งเป็นพันธุ์ปาล์มที่สวนแห่งนี้ใช้ปลูกจำนวน   100   ไร่   และโชคดีที่   ดร . เอนก   ลิ่มศรีวิไล   เจ้าของและผู้พัฒนาสายพันธุ์ ปาล์มโกลด์เด้นเทเนอร่า   เดินทางไปชมพร้อมกับทีมงานด้วย เมื่อเดินทางถึงสวนปาล์มแห่งนี้   ดร . เอนก   คว้ากล้องคู่กายเดินถ่ายภาพและหายลับเข้าไปในสวนปาล์ม   ได้ยินแต่เสียงร้องอุทานเป็นระยะๆ หลังจากเห็นทะลายปาล์มดกเต็มคอทุกต้น   ซึ่ง

ทึ่ง..สวนปาล์มผลผลิต 7.3 ตัน/ไร่/ปี ต้นทุนต่ำน่าเหลือเชื่อ ผลงาน โสฬส เดชมณี

บอกใคร ใครเขาจะเชื่อ... !!! สวนปาล์มขนาด 44 ไร่ อายุ 8 ปี ทำผลผลิตได้ 7.3 ตัน/ไร่/ปี และตั้งเป้าจะปั๊มผลผลิตทะลุ 8 ตัน ในปีที่ 9 และ 10 ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ยทั้งประเทศ 3 ตัน/ไร่/ปี “ยังไม่ถึงที” (ขอยืนสำนวนคนใต้มาใช้) “โกหกแล้ว บ้าไปแล้ว” “7.3 ตัน สูงไปมั้ยครับ” นี่คือส่วนหนึ่งของคอมเมนต์ในเพจยาง & ปาล์มออนไลน์ หลังจากทีมงานนำข้อมูลผลผลิตของสวนปาล์มแห่งนี้ไปโพสต์ สะท้อนข้อมูลที่ย้อนแย้งต่อความรู้สึกของชาวสวนปาล์มจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า ตัวเลขนี้ไม่ใช่เรื่องจริง ยิ่งเมื่อแบข้อมูล “ต้นทุน” การจัดการสวนปาล์มทั้งระบบ บางปีมีต้นทุนต่ำเพียงแค่ 1.30 บาท/ปาล์ม 1 กก. ก็ยิ่งไม่น่าเชื่อ ถ้าเป็นภาษาใต้ก็ต้องบอกว่า “โกหกทั้งเพ” นายโสฬส เดชมณี เจ้าของสวนปาล์ม 44 ไร่ ทำผลผลิตได้ 7.3 ตัน/ไร่/ปี  หากแต่พวกเราทีมงานยาง & ปาล์มออนไลน์ ยืนยันว่า ข้อมูลนี้คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับสวนปาล์มของ นายโสฬส เดชมณี เกษตรกรชาวสวนปาล์มหัวก้าวหน้าแบบ  “ ติดจรวด ”  ของ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี สวนปาล์มที่ได้รับคำชื่นชมว่ามีระบบการจัดการสวนที่ดี พอๆ กับเป็นสวนปาล์มที่ใ

ลงทุน ธุรกิจยางเครป อย่างไร ให้มีกำไร

พูดถึงธุรกิจการแปรรูปน้ำยางพาราตอนนี้ “ยางก้อนถ้วย” ดูจะเป็นคำตอบต้นๆ สำหรับเกษตรกรโดยเฉพาะพี่น้องสวนยางภาคเหนือและอีสานนิยมทำยางก้อนถ้วย เนื่องจากทำง่าย ใช้เวลาน้อย ต่างจากการทำยางแผ่นซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งวัน แถมในกระบวนการผลิตยังต้องใช้น้ำปริมาณมาก ตรงข้ามกับการทำยางก้อนถ้วยที่ไม่ต้องใช้น้ำในกระบวนการเลยและเกษตรกรทำเองได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงงานมาก เมื่อก่อนการจำหน่ายยางก้อนถ้วยอาจเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น แต่กลับพบว่ามีจุดอ่อนบางประการทำให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ ถูกกดราคาซื้อเนื่องจากปริมาณน้ำในก้อนยาง   คุณประธาน สังหาญ  (ซ้าย) ธุรกิจยางเครป จึงเกิดขึ้นเพื่อลบจุดอ่อนนี้ ทีมงานยาง & ปาล์มออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ คุณประธาน สังหาญ  หนึ่งในผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้ ปัจจุบันได้ให้คำปรึกษากับพ่อค้ารับซื้อยางก้อนถ้วยเพื่อผลิตยางเครปส่งโรงงานและกลุ่มเกษตรกรหลายแห่งในเขตภาคเหนือ-อีสานเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจยางเครป โดยมีประเด็นสำคัญคือ ทำยางเครปอย่างไรให้ได้กำไร ศาสตร์ของการทำยางเครป “ไม่ขาดทุน” ที่ คุณประธาน สรุปคร่าวๆ มี 6 ข้อ หรือที่เขาเรียกว่า 6M